พระอิสริยยศ และ ฐานันดรศักดิ์ ของ ราชวงศ์สหราชอาณาจักร

สมาชิกของราชวงศ์บนพลับพลาที่ประทับในมหาวิหารเวสต์มินส์เตอร์ ระหว่างพระราชพิธีบรมราชิภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

พระอิสริยยศในชั้น His หรือ Her Majesty (HM) ใช้กับสมเด็จพระราชาธิบดี สมเด็จพระราชินีนาถ สมเด็จพระราชินี และอดีตสมเด็จพระราชินี (สมเด็จพระพันปี หรือ สมเด็จพระบรมราชชนนี)

การใช้พระอิสริยยศ His หรือ Her Royal Highness (HRH) และฐานันดรศักดิ์เจ้าชายและเจ้าหญิงมีผลจากพระราชหัตถเลขาที่ออกโดยสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2460 และตีพิมพ์ลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษาลอนดอนในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2460 พระราชหัตถเลขากล่าวว่านับแต่นี้ต่อไปพระราชโอรสธิดาในพระประมุข พระโอรสธิดาในพระราชโอรสของพระประมุข พระโอรสองค์โตของพระโอรสองค์โตของเจ้าชายแห่งเวลส์ "จะถือครองโดยตลอดพระอิสริยยศ อิสริยศักดิ์ และคุณสมบัติชั้น Royal Highness พร้อมกับฐานันดรศักดิ์เจ้าชายและเจ้าหญิงนำมาก่อนหน้าพระนามทางศาสนาคริสต์หรือบรรดาศักดิ์ประดับเกียรติ" และยังต่อไปอีกว่า "พระราชนัดดาของพระประมุขผ่านทางพระราชโอรสสายตรง (ยกเว้นพระโอรสองค์โตของพระโอรสองค์ใหญ่ในเจ้าชายแห่งเวลส์) จะมีพระอิสริยยศและฐานันดรศักดิ์ของบุตรและธิดาของดยุก"

ภายใต้ธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าว พระราชโอรสธิดาในสมเด็จพระราชินีนาถและพระโอรสธิดาในเจ้าชายแห่งเวลส์ ดยุกแห่งยอร์ค และเอิร์ลแห่งเวสเซ็กซ์ จึงทรงดำรงฐานันดรศักดิ์เจ้าชายหรือเจ้าหญิง และมีพระอิสริยยศ Royal Highness แต่กระนั้นในการอภิเษกสมรสของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการประกาศว่าพระโอรสและธิดาของพระองค์จะมีฐานันดรศักดิ์เทียบเท่ากับบุตรีของเอิร์ล แต่ยังไม่มีพระราชหัตถเลขาออกมารับรอง ดยุกแห่งกลอสเตอร์ ดยุกแห่งเคนต์ เจ้าฟ้าหญิงอเล็กซานดรา เลดี้โอกิลวี และ เจ้าชายไมเคิลแห่งเคนต์ ทรงดำรงฐานันดรศักดิ์เป็นเจ้าชายและเจ้าหญิงพร้อมทั้งพระอิสริยยศ Royal Highness ในฐานะพระราชนัดดาผ่านทางสายพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แต่อย่างไรก็ตาม พระโอรสและธิดาของทุกพระองค์ไม่ทรงมีฐานันดรศักดิ์ทางราชวงศ์อะไรเลย เช่น พระโอรสและธิดาของเจ้าชายไมเคิลจะเป็นเพียง ลอร์ด เฟรเดอริค วินด์เซอร์ และ เลดี้ กาเบรียลลา วินด์เซอร์ ตามฐานันดรศักดิ์ของบุตรธิดาของดยุก ไม่มีการแต่งตั้งฐานันดรศักดิ์ทางราชวงศ์ พระโอรสธิดาของเจ้าฟ้าหญิงพระราชกุมารี เจ้าหญิงอเล็กซานดรา และ เจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ต เคานท์เตสแห่งสโนว์ดอน ไม่มีฐานันดรศักดิ์ทางราชวงศ์เนื่องจากเจ้าหญิงไม่สามารถส่งผ่านฐานันดรศักดิ์ไปสู่พระโอรสและธิดา แต่มีข้อยกเว้นเกิดขึ้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 มีพระราชหัตถเลขาให้เจ้าหญิงเอลิซาเบธ รัชทายาทโดยนิตินัยส่งผ่านฐานันดรศักดิ์ทางราชวงศ์สู่พระโอรสและธิดาได้ พระโอรสในเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตดำรงฐานันดรศักดิ์ไวส์เคานท์ลินเลย์ในฐานะบุตรชายและทายาทของเอิร์ลแห่งสโนว์ดอน ในขณะที่พระธิดาดำรงฐานันดรศักดิ์เลดี้ พระโอรสธิดาในเจ้าฟ้าหญิงวรราชกุมารีและเจ้าหญิงอเล็กซานดราไม่มีฐานันดรศักดิ์ทางราชวงศ์เลย เนื่องมาจากว่ามาร์ค ฟิลลิปส์และ เซอร์ แองกัส โอกิลวี ไม่ได้ขอรับการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ขุนนางในวันอภิเษกสมรส

หญิงสาวที่แต่งงานกับพระราชโอรสหรือพระราชนัดดาในสายพระราชโอรสของพระประมุขจะดำรงพระอิสริยยศเป็น Her Royal Highness แล้วก็ตามด้วยรูปแบบที่เปลี่ยนเป็นเพศหญิงของฐานันดรศักดิ์อันสูงสุดของพระสวามี ดังนั้นพระชายาของขุนนางในทางราชวงศ์จึงเป็นที่รู้จักกันว่า "เจ้าฟ้าหญิงดัชเชสแห่ง......." หรือ "เจ้าฟ้าหญิงเคานท์เตสแห่ง......." เพราะฉะนั้นพระชายาของดยุกแห่งเคนต์ ดยุกแห่งกลอสเตอร์ และเอิร์ลแห่งเวสเซ็กส์ก็คือ "เจ้าฟ้าหญิงดัชเชสแห่งเคนต์" "เจ้าฟ้าหญิงดัชเชสแห่งกลอสเตอร์" และ "เจ้าฟ้าหญิงเคานท์เตสแห่งเวสเซ็กส์" เป็นลำดับ ก่อนการหย่าร้าง ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ได้ทรงดำรงพระอิสริยยศและฐานันดรศักดิ์เป็น "เจ้าฟ้าหญิงแห่งเวลส์" อย่างไรก็ตาม เมื่อหญิงสาวแต่งงานกับบุคคลที่ไม่ได้มีบรรดาศักดิ์ขุนนางก็จะเป็นที่รู้จักว่า เจ้าฟ้าหญิง (พระนามทางศาสนาคริสต์ของพระสวามี) แล้วตามด้วยราชทินนามเกี่ยวกับดินแดนหรือทางฐานันดรศักดิ์นั้น ดังเช่น บารอนเนส มารี-คริสตีน ฟอน ไรบ์นิตซ์ ดำรงพระอิสริยยศและฐานันดรศักดิ์ "เจ้าฟ้าหญิงไมเคิลแห่งเคนต์" และไม่ใช่ "เจ้าฟ้าหญิงมารี-คริสตีนแห่งเคนต์" เช่นเดียวกันคือ บริจิตต์ อีวา ฟาน ดอยรส์ ดำรงพระอิสริยยศและฐานันดรศักดิ์ "เจ้าฟ้าหญิงริชาร์ดแห่งกลอสเตอร์" หลังจากการอภิเษกสมรสจนกระทั่งถึงการสืบทอดตำแหน่งดยุกต่อจากพระชนกของพระสวามีในปี พ.ศ. 2517 พระชายาม่ายของเจ้าชายยังคงดำรงพระอิสริยยศเจ้าฟ้า หรือ HRH แต่กระนั้นตามพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ลงวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2539 พระชายาที่หย่าขาดจากเจ้าชายแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ "จะไม่มีสิทธิที่จะถือครองหรือดำรงพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์ และคุณสมบัติของ Royal Highness"

นอกจากนั้นยังมีการยกเว้นในเรื่องของข้อปฏิบัติซึ่งพระชายาของเจ้าชายต้องดำรงพระอิสริยยศของพระสวามี ในพระราชหัตถเลขาลงวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ไม่ทรงยอมรับพระอิสริยยศเจ้าฟ้าแก่พระชายาของดยุกแห่งวินด์เซอร์ ซึ่งทรงเป็นอดีตสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ดังเช่นนั้นนางวอลลิส วอร์ฟิลด์ ซิมป์สัน จึงเป็นที่รู้จักว่า "ดัชเชสแห่งวินด์เซอร์" (Her Grace The Duchess of Windsor) ไม่ใช่ "เจ้าฟ้าหญิงดัชเชสแห่งวินด์เซอร์"

ยังเป็นที่สังเกตอีกอย่างหนึ่งว่าเนื่องจากความลังเลของสาธารณชนในการยอมรับกันถ้วนหน้าต่อพระชายาองค์ที่สองในเจ้าชายแห่งเวลส์ จึงมีประกาศจากตำหนักคลาเรนซ์ว่าถ้าเจ้าชายแห่งเวลส์เสวยราชสมบัติเป็นกษัตริย์ เจ้าฟ้าหญิงดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ พระชายาจะไม่ได้เป็นสมเด็จพระราชินี แต่มีฐานันดรศักดิ์รองลงมาคือ เจ้าฟ้าหญิงพระวรราชชายา นอกจากความเคารพต่อไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ผู้ล่วงลับ ยังได้มีประกาศอีกว่าเจ้าฟ้าหญิงดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์จะไม่ได้เป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์ด้วย

พระราชธิดาและพระราชนัดดาผู้หญิงในสายพระราชโอรสของพระประมุขจะไม่ทรงสูญเสียฐานันดรศักดิ์ทางราชวงศ์ไปในการอภิเษกสมรส บุรุษซึ่งสมรสกับพระราชธิดาและพระราชนัดดาผู้หญิงในสายพระราชโอรสของพระประมุข จะไม่ได้รับศักดินาทางราชวงศ์และพระอิสริยยศเจ้าฟ้าจากภรรยา มีข้อยกเว้นเดียวของธรรมเนียมปฏิบัตินี้คือ เจ้าชายฟิลิป ซึ่งประสูติเป็นเจ้าชายแห่งกรีซและเดนมาร์ก และหลังจากสิ้นสุดสงครามเพียงไม่นานจึงได้ทรงสละฐานันดรศักดิ์และเป็นชาวอังกฤษที่แปลงสัญชาติในฐานะเรือโท ฟิลิป เมานท์แบ็ตเต็น ร.น. (แม้ว่าจะทรงเป็นชาวอังกฤษอยู่แล้วในฐานะเชื้อสายพระองค์หนึ่งในเจ้าหญิงโซเฟีย) ในวันก่อนการอภิเษกสมรส พระองค์ทรงได้รับการสถาปนาให้เป็นดยุกแห่งเอดินบะระ พร้อมกับพระอิสริยยศเจ้าฟ้าจากพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 แต่ก็ยังไม่ได้ทรงเป็นเจ้าชายแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือจนกระทั่งวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 นับแต่วันนั้นฐานันดรศักดิ์แบบเต็มของพระองค์คือ "เจ้าฟ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ"

ในฐานะพระราชนัดดาของพระประมุขผ่านทางพระราชธิดา พระโอรสและธิดาของเจ้าหญิงเอลิซาเบธและดยุกแห่งเอดินบะระจะไม่มีสิทธิใช้พระอิสริยยศเจ้าฟ้าและฐานันดรศักดิ์เจ้าชายหรือเจ้าหญิงแห่งสหราชอาณาจักรจนกระทั่งพระชนนีเสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระราชินีนาถ หากพระอิสริยยศและฐานันดรศักดิ์เหล่านั้นไม่ได้รับพระราชทานจากพระราชหัตถเลขาจากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2491 นอกจากนั้นยังไม่สามารถดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้าชายและเจ้าฟ้าหญิงแห่งกรีซและเดนมาร์กผ่านทางพระชนกได้ เพราะว่าดยุกแห่งเอดินบะระ พระชนกได้ทรงสละพระอิสริยยศและฐานันดรศักดิ์ไปแล้ว